พรีไบโอติกอาหารของจุลินทรีย์ที่เรียกว่าโปรไบโอติก



พรีไบโอติก อาหารของโปรไบโอติก
     พรีไบโอติก คือ ส่วนประกอบของอาหารที่ไม่ถูกย่อยโดยเอ็นไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์และสัตว์ ใยอาหารกลุ่มนี้จึงผ่านระบบทางเดินอาหารไปสู่บริเวณลำไส้ใหญ่ในสภาพที่สมบูรณ์ และกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์กลุ่มที่เป็นโปรไบโอติก เช่น บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และ แลคติค แอซิด แบคทีเรีย (Lactic Acid Bacteria) โดยแบคทีเรียย่อยใยอาหารกลุ่มนี้ซึ่งมักเป็น ใยอาหารกลุ่มที่ละลายน้ำจะได้สารบางชนิดที่เป็นประโยชน์ ซึ่งร่างกายนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้หลายชนิด เช่น กรดไขมันห่วงโซ่สั้น (Short Chain Fatty Acid) ซึ่งผลจากการย่อยทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในลำไส้ลดลง เป็นการยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ที่ก่อปัญหาไปในตัว อาหารที่มีสมบัติ เป็นพรีไบโอติก ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้ ตัวอย่างของพรีไบโอติกที่คนเราควรได้รับเป็นประจำจาก อาหารที่รับประทาน ได้แก่ โอลิโกฟรุคโตส (Oligofructose) ฟรุคโตโอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo Oligosaccharides) อินูลิน (Inulin) โพลีฟรุคโตส (Polyfructose) สารสกัดจากรากชิโครี (Chicory Root Extract) เป็นต้น
ฟลุคโต โอลิโกแซคคาไรด์ (Fructo Oligosaccharides หรือ FOS) จัดเป็นใยอาหารประเภทพรีไบโอติกอีกกลุ่มหนึ่ง ที่เป็นอาหารที่ดีของแบคทีเรียกลุ่ม Bifidobacteria เมื่อถูกย่อยด้วยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่แล้วจะให้สารบิวไทริคในปริมาณสูงเป็นประโยชน์ต่อการลดความเสี่ยง
ต่อการเป็นโรคมะเร็งในทางเดินอาหารได้ดี

FOS ช่วยกระตุ้นการเจริญและการทำงานของบิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) และแลคโตบาซิลลิ (Lactobacilli) จึงถูกจัดเป็นพรีไบโอติก การเสริม FOS เพียงวันละ 1 กรัมสามารถเพิ่มปริมาณ
บิฟิโดแบคทีเรียได้ 6 - 7 เท่า การวิจัยพบว่า FOS วันละ 8 กรัม เพิ่มบิฟิโดแบคทีเรียได้ 10 - 1,000 เท่า ในขณะที่ปริมาณสูงมากถึงวันละ 30 กรัมก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ก่อปัญหาท้องอืดในบางคน

FOS ในธรรมชาติพบในอ้อย หัวชิโครี (Chicory) หัวอาร์ติโช้ค (Artichoke) หัวหอม กระเทียม และต้นกระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง กล้วย และพบปริมาณเล็กน้อยในผัก ผลไม้ และเมล็ดธัญพืชต่างๆ เช่น มะเขือเทศ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ น้ำผึ้ง เบียร์ เนื่องจาก FOS มีรสหวานอ่อนๆ และมีความหวานอยู่ตัว จึงถูกนำมาใช้ในการทำขนมลูกกวาด หรือขนมฉาบน้ำตาล และขนมประเภท Pastry ปริมาณ FOS ในอาหารขึ้นอยู่กับเวลาในการเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาแหล่งอาหารดังกล่าว
การรับประทานผักผลไม้อย่างน้อยวันละ 5 หน่วยบริโภค โดยเน้นอาหารที่เป็นแหล่งของ FOS จะช่วยเพิ่ม FOS ในอาหารที่รับประทานได้ เป็นการเสริม FOS โดยการใช้อาหารในธรรมชาติในการช่วยเพิ่มบิฟิโดแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหลักฐานบ่งชี้ในการป้องกันการติดเชื้อในลำไส้ การเพิ่มปริมาณบิฟิโดแบคทีเรียจะช่วยลดปริมาณแบคทีเรียชนิดก่ออันตรายได้

คุณค่าของใยอาหารด้านโภชนาการและสุขภาพ
     ใยอาหารแทบทุกชนิด (ยกเว้นลิกนิน) จัดเป็นสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งไม่ให้พลังงาน เนื่องจากร่างกายย่อยไม่ได้ ในทางโภชนาการจึงถือว่าใยอาหารไม่มีแคลอรี ส่งผลให้มีการใช้ใยอาหารในรูปผักผลไม้ เพื่อการลดความอ้วน หรือเพื่อลดพลังงานในอาหารกันมาก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าใยอาหารบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มทีละลายน้ำได้หลายตัวถูกย่อยได้
โดยเอ็นไซม์ของแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ ผลที่ได้ คือ คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Dioxide) และกรดไขมันห่วงโซ่สั้น ได้แก่ บิวไทเรต (Butyrate) โพรพิโอเนต (Propionate) และอะซิเตต (Acetate) โดยส่วนใหญ่จะเป็น อะชิเตต กรดไขมันห่วงโซ่สั้นเหล่านี้ถูกดูดซึม เข้าสู่ร่างกายผ่านทางผนังลำไส้ใหญ่ได้อย่าง
รวดเร็วและถูกเปลี่ยนไปเป็นพลังงานในร่างกาย  พืชส่วนใหญ่มีใยอาหารทั้งสองชนิดปนกัน โดยผักผลไม้ชนิดต่างๆ มีสัดส่วนของใยอาหาร แต่ละชนิดต่างกัน ใยอาหารส่วนที่ให้พลังงาน ได้มีไม่มากนัก

The British Nutrition Foundation Task Force ประเมินว่า ใยอาหาร ให้พลังงานได้โดยเฉลี่ย 2 กิโลแคลอรี/กรัม หรือ 0 - 3 กิโลแคลอรี/กรัม สิ่งนี้ทำให้ความคิดของนักโภชนาการที่มีต่อใยอาหารเปลี่ยนแปลงไป เช่น มีการยอมรับว่าการรับประทานใยอาหารเป็น ความจำเป็นทางโภชนาการประการหนึ่ง ใยอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และใยอาหารบางชนิดร่างกายสามารถนำไปใช้สร้างพลังงานรวมถึงให้สารบางชนิดที่เป็นประโยชน์ได้ ขณะเดียวกันใยอาหาร บางชนิด เช่น เพคตินและกัมยังสามารถสร้างเจลเหนียวในกระเพาะและลำไส้ ทำให้อาหารเคลื่อนตัวในทางเดินอาหารช้าลงส่งผลให้การดูดซึมสารอาหารหลายชนิดเป็นไปได้ช้าลงซึ่งเป็นผลดีสำหรับผู้ป่วยบางโรค เช่น เบาหวาน ซึ่งจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างช้าๆ

คุณค่าของใยอาหาร
1.เสริมสุขภาพของระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้เป็นปกติ
2.ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส ้เร่งการขับถ่าย
3.ใยอาหารชนิดละลายน้ำ ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลและไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งโคเลสเตอรอลในเลือดอยู่ในระดับปกติ ไม่สูงมากเกินไป
4.ใยอาหารชนิดละลายน้ำบางชนิดทำหน้าที่พรีไบโอติก อีกทั้งช่วยกระตุ้นการทำงานของ
ภูมิต้านทานในร่างกาย

ระบบทางเดินอาหาร (Alimentary Canal) หมายถึง ระบบอวัยวะที่เป็นหลอดเปิดยาวต่อเนื่องกัน ทำหน้าที่ให้อาหารผ่านเข้าสู่ร่างกาย ทางเดินอาหารเริ่มตั้งแต่ปาก ผ่านหลอดคอ (Esophagus) เข้าสู่กระเพาะ (Stomach) ลำไส้เล็ก (Small Intestine) ลำไส้ใหญ่ (Large Intestine) กระทั่งไปสิ้นสุดที่ทวารหนัก (Anus)

ภายในลำไส้เล็กที่อาหารผ่านเข้ามาจะเกิดการย่อยอาหารมากที่สุด เนื่องจากบริเวณนี้มีเอ็นไซม์มากมายหลายชนิดเข้ามาเกี่ยวข้อง การย่อยอาหารดำเนินต่อไปจนกระทั่งอาหารที่ส่วนใหญ่มีโครงสร้างซับซ้อนถูกเปลี่ยนสภาพเป็นสารอาหารที่พร้อมถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดโดย
-คาร์โบไฮเดรตเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำตาลเชิงเดี่ยว
-ไขมันแปลงสภาพเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล
-โปรตีนถูกย่อยเป็นกรดอะมิโน
-ขณะที่วิตามินและเกลือแร่ถูกปลดปล่อยออกจากเซลล์อาหารกลายเป็นสารอิสระ สารอาหารทั้งหมดนี้พร้อมที่จะถูกดูดซึม

อย่างไรก็ตามยังมีอาหารบางส่วนที่ไม่ถูกย่อยด้วยระบบเอ็มไซม์ในลำไส้เล็กสารกลุ่มนี้เรียกว่าใยอาหารส่วนใหญ่จะเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ถูกเคลื่อนผ่านจากลำไส้เล็กเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ การย่อยด้วยระบบเอ็นไซม์ของร่างกายแม้จะ สิ้นสุดลงแล้วแต่เนื่องจากลำไส้ใหญ่เป็นที่ อาศัยของแบคทีเรียหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อ ร่างกายจำนวนมหาศาล เรียกรวมกันว่านอร์มอล ฟลอร่า (Normal Flora) หรือไมโครฟลอร่า (Microflora) บางครั้งอาจเรียกว่าโปรไบโอติก (Probiotics) ก็ได้ แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่นี้มี จำนวนมากกว่าจำนวนเซลล์ของร่างกายถึง 10 เท่าโดยเซลล์ร่างกายมีจำนวน 1013 หรือ  10 ล้านล้านเซลล์ ขณะที่แบคทีเรียในลำไส้ใหญ่มีจำนวนมากถึง 1014 หรือ 100 ล้านล้านเซลล์ แบคทีเรียกลุ่มนี้ใช้ใยอาหารบางกลุ่มที่มันย่อยได้ซึ่งเรียกว่า พรีไบโอติก (Prebiotics) เป็นอาหารเกิดการย่อยใยอาหารกลุ่มนี้ให้เกิดเป็นกรดไขมันตัวเล็กๆ ที่เป็นประโยชน์

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับใยอาหาร
การมีสุขภาพของทางเดินอาหารที่ดีจึงควรทำความเข้าใจกับเรื่องราวของใยอาหารให้มากขึ้น
ใยอาหารมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด คือ ใยอาหารไม่ละลายน้ำ และใยอาหารละลายน้ำ ซึ่งใยอาหารทั้งสองชนิดนี้มีคำนิยามเหมือนกันนั่นคือ เป็นสารที่พบในอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาพืชผักต่างๆ และเกือบทุกชนิดถูกจัดเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ใช่แป้ง (Non-starch Carbohydrates) เอ็นไซม์ในทางเดินอาหารของมนุษย์ไม่สามารถย่อยได้ อาจจะมีแบคทีเรียบางชนิดในทางเดินอาหารส่วนล่างสามารถย่อยใยอาหารบางชนิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม คุณสมบัติทางกายภาพของใยอาหารทั้งสองชนิดนั้นก็มีความแตกต่างกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้นิยามความแตกต่างของใยอาหารทั้งสองชนิดไว้ดังนี้

ใยอาหารชนิดไม่ละลายน้ำ ( Insoluble Fiber )
     ใยอาหารกลุ่มนี้ไม่ละลายน้ำแต่จะดึงน้ำไว้ได้ ทำให้เกิดการพองตัวในน้ำลักษณะคล้ายฟองน้ำ ทำให้เพิ่มปริมาตรของกระเพาะอาหาร ผู้ที่รับประทานใยอาหารกลุ่มนี้จึงรู้สึกอิ่ม อีกทั้งช่วยเร่งให้อาหารผ่านไปตามทางเดินอาหารได้เร็วขึ้น และช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระ ทำให้ช่วงเวลาที่กากอาหารค้างอยู่ในทางเดินอาหารสั้นลงหรือขับถ่ายเร็วขึ้น เกิดความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระลดปัญหาท้องผูกได้ เช่น เซลลูโลส  เฮมิเซลลูโลส และลิกนินที่พบบนผนังเซลล์ของพืช ใยอาหารประเภทนี้พบได้มากในรำข้าว
รวมทั้งในผักและผลไม้ แหล่งพืชผักผลไม้ที่ให้ใยอาหารชนิดที่ไม่ละลายน้ำ ได้แก่ อ้อย ข้าวโอ๊ต ผงอะเซโรลา เชอร์รี ข้าวสาลี ถั่วเหลือง เลมอน กระบองเพชร รำข้าวบาร์เลย์ ใยอาหารจากถั่วลันเตา แอปเปิ้ล แครอท ดังนั้น ใยอาหารทั้งสองชนิดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับในทุกๆวันในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม การรับประทานใยอาหารมากเกินไปอาจทำให้เกิดสารอาหาร ตลอดจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพได้เช่นกัน สมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกา (The American Dietetic Associationหรือ ADA) แนะนำว่าร่างกายควรได้รับใยอาหาร ประมาณวันละ 20-35 กรัม ขึ้นอยู่กับพลังงานโดยรวมที่ได้รับ โดยเลือกจากหลายแหล่ง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดเปียก และธัญพืช

ใยอาหารชนิดละลายน้ำ ( Soluble Fiber )
     ใยอาหารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการละลายน้ำได้ และสามารถดูดซับสารที่ละลายในน้ำไว้กับตัว เช่น เพคติน (Pectin) กัม (Gums) มิวซิเลจ (Mucilage) พบมากในพืชจำพวกถั่ว รำข้าวโอ๊ต ผักและผลไม้ เป็นสารที่ละลายในน้ำที่ร่างกายย่อยไม่ได้ พบได้ภายในเซลล์พืช มีส่วนทำให้อาหารผ่านไปในทางเดินอาหารช้าลงโดยไม่ ช่วยเพิ่มมวลของอุจจาระ ใยอาหารกลุ่มนี้หลายตัวยังช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล และลด การดูดซึมเกลือน้ำดี นอกจากนี้ใยอาหารกลุ่มนี้ บางตัวยังถูกย่อยด้วยแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ เกิดเป็นปฏิกิริยาที่เรียกว่าการหมัก จึงอาจเรียกว่า “ใยอาหารที่ถูกหมักได้” หรือ Fermentable Fiber ปัจจุบันนิยมเรียกใยอาหารกลุ่มนี้ว่า
พรีไบโอติก (Prebiotics) เนื่องจากช่วยส่งเสริมให้แบคทีเรียกลุ่มไมโครฟลอร่าหรือโปรไบโอติก (Probiotics) เจริญเติบโตได้ดีตัวอย่างใยอาหารชนิดที่ละลายน้ำได้แก่
อะเคเซีย กัม


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โปรตีนจากสัตว์มีความแตกต่างจากโปรตีนจากพืชอย่างไร?

กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย