โรคไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ
โรคไขมันพอกตับ คือ การมีไขมันไปสะสมอยู่ในเซลล์ตับ ปกติอาหารไขมันที่ร่างกายได้รับจะถูกเผาผลาญที่ตับและเนื้อเยื่อต่างๆ แต่เมื่อร่างกายได้รับไขมันเกินความต้องการ ไขมันส่วนเกินจะถูกสะสมในรูปเนื้อเยื่อไขมัน เนื้อเยื่อไขมันจะค่อยๆสะสมในตับของบุคคลที่รับประทานอาหารซึ่งมีไขมันในปริมาณที่มากเกินกว่าร่างกายจะจัดการได้ อีกสาเหตุของการมีไขมันสะสมในตับ คือ การที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนไขมันให้อยู่ในรูปที่ถูกกำจัดออกได้ เมื่อตับมีไขมันสะสมอยู่มากกว่า 5% บุคคลนั้นจะเป็นโรคไขมันพอกตับ ซึ่งโดยปกติผู้ป่วยจะไม่มีอาการ แต่บางรายอาจรู้สึกไม่สบายบริเวณใต้ชายโครงขวา อ่อนเพลีย นั่นคือโรคนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น และตับที่มีไขมันสะสมอยู่จะง่ายต่อการเกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบและเกิดแผลเป็นในเนื้อตับ
โรคไขมันพอกตับ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ โรคไขมันพอกตับที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcoholic fatty liver disease , AFLD) และ โรคไขมันพอกตับที่มิได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic fatty liver disease, NAFLD)

สำหรับโรคไขมันพอกตับที่มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทราบได้จากประวัติของการดื่มแอลกอฮอล์จัด ส่วนโรคไขมันพอกตับที่มิได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์นั้นปัจจุบันพบว่าหากร่างกายเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินแล้วจะเป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะไขมันคั่งสะสมในตับ หลังจากนั้นอาจจะมีปัจจัยหรือกลไกอื่นอีกที่มากระตุ้นให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมักมีกลุ่มโรคทางเมตาบอลิก คือ โรคอ้วน โรคเบาหวานหรือภาวะดื้ออินซูลิน และไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาวะผิดปกติทางโภชนาการเช่น การอดอาหาร ขาดโปรตีน การให้อาหารทางหลอดเลือด การผ่าตัดทำตัดต่อลำไส้ การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ปัจจัยทางพันธุกรรม ยาบางชนิด ก็อาจเหนี่ยวนำให้เกิดโรค NAFLD ได้ ทราบได้อย่างไรว่าเป็น โรคไขมันพอกตับ

โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีค่าตรวจทางห้องปฏิบัติการที่บ่งบอกความผิดปกติของตับ คือ ค่า ALT, AST, ALP ผิดปกติ หรือ ตับโต แพทย์จะตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีไขมันพอกตับ จึงต้องทำการตรวจตับด้วยอัลตร้าซาว์ด ซึ่งจะบอกได้ว่ามีไขมันที่ตับหรือไม่ การวินิจฉัยทางการแพทย์อื่นที่สามารถระบุว่ามีไขมันพอกตับหรือไม่ เช่นการทำซีทีสแกน proton magnetic resonance spectroscopy (H-MRS), และเอ็มอาร์ไอ (MRI) ในบางกรณีแพทย์อาจขอเจาะเอาตัวอย่างเนื้อตับไปตรวจทางพยาธิวิทยา

ไขมันพอกตับ อาการเป็นอย่างไร
          ภาวะไขมันเกาะตับร้ายมาก ๆ ค่ะ ที่ต้องบอกว่าร้ายเพราะอาการของภาวะนี้ไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจน มีการดำเนินโรคยาวนานเป็นสิบปี จะตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพ เจาะเลือดแล้วพบค่าเอนไซม์ตับผิดปกติไป ทว่าถึงกระนั้นผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับอาจมีอาการไม่จำเพาะดังต่อไปนี้ให้พอเอะใจได้อยู่บ้าง
          1. อ่อนเพลียง่าย
          2. เบื่ออาหาร
          3. ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา
          4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ
          5. ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ
          6. คลื่นไส้ อาเจียน
          7. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว
          8. สีผิวบริเวณท้ายทอย รักแร้ และข้อพับดำคล้ำ หรือมีสีผิวไม่สม่ำเสมอ
          9. ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายอาการดีซ่าน
          10. ในรายที่มีไขมันพอกตับเนื่องจากฤทธิ์ของสุรา อาจสังเกตตัวเองได้ว่าหลังจากดื่มสุราไปสักพัก จะเกิดอาการไม่สบายกาย เช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหนักมาก คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัด แน่นท้อง ซึ่งหากเกิดอาการแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอจะเดาได้ว่าอาจเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับเกือบจะ 100%
          อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้ด้วยตัวเราเอง โดยวิธีดังต่อไปนี้เลย
วิธีป้องกันไขมันพอกตับ
          1. รับประทานอาหารทุกมื้อ ไม่อดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเน้นหลัก หนักเช้า เบาเที่ยง เลี่ยงเย็น คือกินมื้อเย็นให้น้อยกว่ามื้ออื่น ๆ
          2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนจนเกินไป
          3. หากอ้วนควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี โดยลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน
          4. พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง
          5. ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม
          6. ลดพฤติกรรมกินจุบกินจิบ โดยเฉพาะพวกขนมขบเคี้ยว
          7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็มจัด มันจัด เปรี้ยวจัด หรือหวานจัด แต่ควรกินอาหารรสชาติกลาง ๆ
          8. กินผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น
          9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวัละ 30 นาที
          10. พยายามไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งบุหรี่ด้วย
          11. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริม
          12. สำหรับคนอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง ควรรักษาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด กล่าวคือ ระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ควรน้อยกว่า 160 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
          13. ตรวจเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี
          14. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องหลับให้ได้ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน

การรักษาโรคไขมันพอกตับ ยังไม่มียาที่ออกฤทธิ์เฉพาะเจาะจงสำหรับโรคนี้ ยาที่ใช้ในการรักษา ประกอบด้วย
-วิตามีนอี สารต้านออกซิเดชั่น เพราะอนุมูลอิสระเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการอักเสบและการตายของเซลล์ตับ
-Silymarin มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่น ต้านการอักเสบ และช่วยฟื้นฟูเซลล์ตับ ทำให้เกิดการสร้างเซลล์ใหม่ ช่วยปกป้องเซลล์ตับจากสารพิษ เช่น Carbon tetrachloride, Galactosamine , Ethanol, Paracetamol, Lanthanides, FV3 virus, โลหะหนัก, Thioacetamide และ เห็ดพิษบางชนิด
-Ursodeoxycholic acid ช่วยลดภาวะการอักเสบของตับ ทำให้การทำงานของตับดีขึ้น ช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน
-Metformin กระตุ้นความไวต่ออินซูลิน
หากสาเหตุของโรคเกิดจาก โรคอ้วน โรคเบาหวานหรือภาวะดื้ออินซูลิน และไขมันในเลือดสูง การรักษาจะเน้นที่การปรับพฤติกรรมการรับประทาน การให้ผู้ป่วยลดน้ำหนัก (ลดน้ำหนักลงอย่างน้อย 15% ของน้ำหนักเดิม โดยลด 1-2 กิโลกรัม/เดือน ) และให้ออกกำลังกาย เพื่อลดไขมันที่สะสมในตับ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ต้องลดปริมาณไขมันที่รับประทาน และรับประทานอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ

ยาที่มีรายงานว่าสามารถทำให้เกิดไขมันพอกตับ คือพาราเซทามอลในขนาดสูง แอสไพริน คอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาต้านซึมเศร้าและยารักษาโรคจิตบางชนิด valproate, 5-FU, irinotecan, cisplatin, L-asparaginase, griseofulvin corticosteroids, , amiodarone, methotrexate, tetracycline ขนาดสูง ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ, warfarin, tamoxifen, , ยาต้านเอดส์กลุ่ม NRTIs (เช่น stavudine, zidovudine, didanosine) , Nonsteroidal anti-inflammatory drugs (ibuprofen, naproxen), Cocaine, diltiazem, warfarin , วิตามิน เอ ขนาดสูง, Perhexiline maleate
ขอขอบคุณข้อมูล
http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โปรตีนจากสัตว์มีความแตกต่างจากโปรตีนจากพืชอย่างไร?

กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย