กลูโคซามีน (glucosamine)

     "กลูโคซามีน" เป็นสารที่เป็นโครงสร้างหน่วยย่อย (building unit) ของ "ไคติน และ ไคโตซาน" ซึ่งเป็นสารที่พบมากในเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนหมึก เปลือกของแมลง และผนังเซลของเห็ดราบางชนิด โดยในทางอุตสาหกรรมอาหาร "ไคติน" จะถูกย่อยสลายด้วยกรดและผ่านการทำบริสุทธิ์ เพื่อให้ได้ "กลูโคซามีน" ที่อยู่ในรูปบริสุทธิ์สูง ทั้งนี้ กลูโคซามีน ที่สามารถนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจะต้องอยู่ในรูปของ กลูโคซามีน ซัลเฟต หรือ กลูโคซามีน ไฮโดรคลอไรด์ เพื่อใช้สำหรับรับประทาน ซึ่งมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี สามารถถูกดูดซึมทางลำไส้ได้อย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือด และเนื่องจากสารประกอบกลูโคซามีนทั้งสองน้ำหนักโมเลกุลต่ำ จึงทำให้สามารถซึมผ่านผนังหลอดเลือดผ่านน้ำในข้อ และเข้าสู่เซลล์ของกระดูกอ่อนผิวข้อได้โดยง่าย

     ร่างกายของคนเรา "ไม่สามารถ" ผลิตเอ็นไซม์(น้ำย่อย)ที่ย่อย ไคติน และ ไคโตซาน ให้เป็น กลูโคซามีน ได้ ฉะนั้น การทานเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนหมึก เปลือกของแมลง ในอาหารมื้อปกติ เพื่อหวังให้ร่างกายได้รับ "กลูโคซามีน" ก็คงทำไม่ได้เช่นกัน
    ฉะนั้น หากเราต้องการ "กลูโคซามีน" ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเปลือกกุ้ง,กระดองปู โดยตรงแล้วละก็ แนะนำว่าเราควรทานในรูปแบบผลิตภัณฑ์กลูโคซามีน ประเภทยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ประเภทนั้น ได้ผ่านกระบวนการ(ทางวิทยาศาสตร์)ย่อยให้ได้ "กลูโคซามีน" บริสุทธิ์ออกมาจากเปลือกกุ้ง,กระดองปู เรียบร้อยแล้ว
     คำเตือน : คนแพ้กุ้ง แพ้ปู แพ้อาหารทะเล "ไม่ควรรับประทาน" เพราะมีส่วนประกอบของเปลือกกุ้ง กระดองปู อยู่ด้วย อาจเกิดอาหารแพ้ได้สำหรับคนที่แพ้สารอาหารเหล่านี้ครับ
     หมายเหตุ : ผลิตภัณฑ์กลูโคซามีน ซัลเฟต ที่จำหน่ายในประเทศไทย ขึ้นทะเบียนเป็นยาฯ จึงต้องซื้อผ่านคำแนะนำของเภสัชกรหรือแพทย์

อ้างอิง
กลูโคซามีน...ทางออกสำหรับโรคข้อเสื่อม 

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ โดยโรคดังกล่าวเกิดจากความผิดปกติของกระดูกอ่อนผิวข้อและกระดูกบริเวณ ใกล้ข้อ โดยกระดูกอ่อนผิวข้อจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านรูปร่างและด้านโครงสร้าง มีผลให้กระดูกอ่อนผิวข้อบางลง ส่งผลให้ การทำงานของกระดูกอ่อนผิวข้อเสียไป เช่น หน้าที่ในด้านการกระจายแรงที่มาผ่านข้อเสียไป หน้าที่ในการให้กระดูกเคลื่อนผ่านกันอย่างนุ่มนวลเสียไปทำให้เกิดเสียงเวลาเคลื่อนไหว ตลอดจน กระดูกใต้ข้อต่อกระดูกอ่อนมีการเพิ่มหนาตัวขึ้นส่งผลให้เกิดอาการ ปวดข้อ ข้อฝืด ข้อแข็ง และมีเสียงดังที่ข้อเวลาที่ข้อมีการเคลื่อนไหว

ในระยะเวลาที่ผ่านมา แพทย์นิยมให้ยาระงับปวดหรือยาต้านการอักเสบ (ที่ไม่ใช่สเตียรอยด์) ชนิดต่างๆ เพื่อบรรเทาอาการปวด อาการเจ็บ และการอักเสบของข้อในผู้ป่วยข้อเสื่อม แต่ เนื่องจากพยาธิสภาพสำคัญของโรคข้อเสื่อมอยู่ที่บริเวณกระดูกอ่อนผิวข้อ (articular cartilage) ซึ่งเกิดการเสื่อมและสึกหรอจากการใช้งานเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผิวข้อไม่เรียบ บางลง แตกเป็นร่อง หรือมีการสึกจนถึงชั้นกระดูกใต้ผิวข้อ ดังนั้น การรับประทานยาระงับปวดหรือยาต้านการอักเสบจึงเป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น

เซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อมีศักยภาพในการแบ่งตัวและสังเคราะห์สารสำคัญ เช่น คอลลาเจน และโปรตีโอกลัยแคน (proteoglycan) ที่มีศักยภาพในการซ่อมแซมที่ต่ำ ส่งผลให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสำคัญในการค้นคว้าและวิจัยยาที่จะช่วยชะลอการเสื่อมของผิวข้อและช่วยเซลล์กระดูกอ่อนให้สามารถทำหน้าที่ในการซ่อมส่วนที่สึกหรอของผิวข้อได้ดีขึ้น

กลูโคซามีนคืออะไร มาจากไหน
กลูโคซามีน (glucosamine) เป็นสารที่ปรากฏในเนื้อเยื่อเกือบทุกชนิดในร่างกายของเรา โดยกลูโคซามีนจะถูกสังเคราะห์จากน้ำตาลกลูโคส หลังจากนั้นเซลล์ของกระดูกอ่อนที่ผิวข้อจะนำกลูโคซามีนไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์โปรตีโอกลัยแคน ซึ่งเป็นสารสำคัญในส่วนประกอบที่เป็นโครงสร้างของกระดูกอ่อน อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุของคนเรามากขึ้น การทำงานของเซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อจะเฉื่อยลงมีผลให้ความสามารถในการสังเคราะห์ กลูโคซามีนและโปรตีโอกลัยแคนลดลงตามไปด้วย ทำให้โครงสร้างของกระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอลง และเสี่ยงต่อการแตกสลายจากการใช้งานของข้อ รวมถึงศักยภาพในการซ่อมแซมการสึกหรอ ที่เกิดจากการใช้งานของข้อในชีวิตประจำวันจะลดลงด้วย

กลูโคซามีน เป็นสารที่เป็นโครงสร้างหน่วยย่อย (building unit) ของไคตินและไคโตซานซึ่งเป็นสารที่พบมากในเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนหมึก เปลือกของแมลง และผนังเซลของเห็ดราบางชนิด โดยไคตินจะถูกย่อยสลายด้วยกรดและผ่านการทำบริสุทธิ์ เพื่อให้ได้กลูโคซามีนที่อยู่ในรูปบริสุทธิ์สูง ทั้งนี้ กลูโคซามีน ที่สามารถนำไปใช้บำบัดผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมจะต้องอยู่ในรูปของ กลูโคซามีนคลอไรด์และกลูโคซามีนซัลเฟตเพื่อใช้สำหรับรับประทาน ซึ่งมีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี สามารถถูกดูดซึมทางลำไส้ได้อย่างรวดเร็วเข้าสู่กระแสเลือด และเนื่องจากสารประกอบกลูโคซามีนทั้งสองน้ำหนักโมเลกุลต่ำ จึงทำให้สามารถซึมผ่านผนัง หลอดเลือดผ่านน้ำในข้อ และเข้าสู่เซลล์ของกระดูกอ่อนผิวข้อได้โดยง่าย

กลูโคซามีน ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม
ผลการศึกษาและวิจัยในการใช้กลูโคซามีนเพื่อการรักษา พบว่าการให้กลูโคซามีนในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมในระยะสั้น (ช่วงระยะเวลาประมาณ 6 สัปดาห์) ให้ผลในการลดอาการปวด อีกทั้งยังเพิ่มความสามารถในการทำงานของข้อได้เหนือกว่า ยาหลอกและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (ยาไอบูโพรเฟนไพร็อกซิแคม)

นอกจากนี้ จากการศึกษาผลระยะยาว โดยการให้ยาขนาด 1,500 มิลลิกรัม แก่ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมวันละครั้งติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี เปรียบเทียบกับการใช้ยาหลอก พบว่ากลูโคซามีนมีผลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของข้อที่เสื่อม โดยประเมินจากค่าความกว้างเฉลี่ยของข้อซึ่งวัดจากภาพเอกซเรย์ รวมถึงยังได้มีรายงานถึงผลของการให้กลูโคซามีนในรูปอาหารเสริมแก่ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมทุกวัน ในปริมาณค่อนข้างสูงประมาณ 3-5 กรัมต่อวัน ซึ่งพบว่า คนไข้มีผลตอบสนองอย่างเด่นชัด โดยกระดูกอ่อน (cartilage) ที่ข้อต่อมีอาการดีขึ้นมาก หลังจากได้รับกลูโคซามีนในเป็นระยะเวลา 2-3 สัปดาห์

ทั้งนี้ ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรป ได้มีการนำกลูโคซามีนมาพัฒนาเป็นอาหารเสริมในรูปเม็ดเพื่อ กินเสริมอาหารในแต่ละวัน นอกจากนี้ ประเทศสิงคโปร์ ได้นำ กลูโคซามีนมาพัฒนาในรูปของครีมออกสู่ตลาด ซึ่งใช้ทาบริเวณข้อที่เกิดอาการข้อเสื่อมได้โดยตรง โดยพบว่าสามารถรักษาโรค ข้อเสื่อมได้ดีกว่าการกินเข้าไป

การพัฒนาการผลิตกลูโคซามีนในประเทศไทย
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของประยุกต์ใช้กลูโคซามีนเพื่อการรักษาโรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ ประกอบกับประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตกลูโคซามีนสูง เนื่องจากมีวัตถุดิบ เช่น เปลือกกุ้ง และกระดองปู สำหรับการผลิต กลูโคซามีนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น สนช. จึงได้ผลักดันให้เกิดโครงการการผลิตกลูโคซามีนจากเปลือกกุ้ง กระดองปู แกนหมึก เพื่อทดแทนกลูโคซามีนที่ร่างกายผู้ป่วยโรคข้อและผู้สูงอายุ ไม่สามารถผลิตได้ โดยเซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อจะนำตกลูโคซามีนไปใช้ในเพื่อการสังเคราะห์สารที่จะช่วยในการซ่อมแซมผิวข้อได้ และเพื่อทดแทนการนำเข้ากลูโคซามีนจากต่างประเทศ

สนช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์และผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม อาทิ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในวัสดุเหลือทิ้งซึ่งเป็นผลิตผลพลอยได้ (by-product) ของอุตสาหกรรมกุ้ง การลดการนำเข้ากลูโคซามีนทั้งในรูปของยาและอาหารเสริมจากต่างประเทศ และเป็นการสร้างภูมิปัญญาและความแข็งแกร่งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย ตลอดจนส่งเสริม ให้ประชากรไทยไทยโดยเฉพาะผู้สูงอายุมีโอกาสบริโภคสินค้า เพื่อรักษาและพื้นฟูสุขภาพ

สุรอรรถ ศุภจัตุรัส [ suraat@nia.or.th ]
ผู้จัดการโครงการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โปรตีนจากสัตว์มีความแตกต่างจากโปรตีนจากพืชอย่างไร?

กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย