ข้อเสื่อม

โรคข้อเสื่อม
   โรคข้อเสื่อมหมายถึงโรคของข้อที่เกิดกับกระดูกอ่อน cartilage และเยื่อหุ้มข้อ ทำให้มีการสร้างเนื้อเยื่อจำนวนมาก โดยมากจะเกิดบริเวณข้อนิ้ว ข้อมือ ข้อกระดูกต้นคอ ข้อกระดูกหลัง

ปกติข้อของคน จะมีกระดูกอ่อนหุ้มอยู่ปลายกระดูก ทำให้การเคลื่อนไหวของข้อราบรื่น กระดูกอ่อนสามารถรับแรงกระแทกจากกระดูก ผู้ที่เกิดกระดูกเสื่อม จะมีกระดูกอ่อนที่หุ้มข้อสึกและบางลง ทำให้เกิดการเสียดสีของกระดูก เมื่อเวลาเคลื่อนไหว จะเกิดอาการ ปวด บวม แดง ร้อน เมื่อเวลาผ่านไป จะมีการงอกของหินปูนเข้าไปในข้อ และมีเศษกระดูกลอยในข้อ ทำให้เกิดอาการปวดข้อ และเคลื่อนไหวลำบาก

ข้อเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและทางชีวกลศาสตร์ภายในข้อและภายในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทันกับการถูกทำลาย เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อมีเลือดมาเลี้ยงน้อย เซลล์กระดูกอ่อนได้รับสาร อาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์สารต่างๆที่จำเป็นในการซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักที่เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันได้
กระดูกอ่อนผิวข้อนอกจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อยแล้วยังไม่มีเซลล์ประสาทรับความรู้สึกเจ็บ ปวดอยู่ด้วย ผู้ที่มีข้อเสื่อมในระยะแรกจึงไม่เกิดอาการปวดจนกว่าข้อที่เสื่อมจะเกิดกระบวนการในการอักเสบ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทงอกเข้าไป หรือผิวข้อสึกรุนแรงมากจนถึงเนื้อกระดูกใต้กระดูกอ่อนผิวข้อ ผู้ป่วยจึงจะเกิดอาการปวด

อะไรคือปัจจัยเสี่ยงของโรคข้อเสื่อม?
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อ (เข่า สะโพก มือ) เสื่อมหรือทำให้โรคลุกลามมากขึ้นได้แก่
- อายุ ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมาก พ่อและแม่อายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดได้
- เพศหญิง มีโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย
- ระดับการทำกิจกรรมในแต่ละวันสูง การเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมาก
- โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน
- แนวกระดูกที่ประกอบเป็นข้อผิดรูป เช่น มีเข่าโก่ง
- กรรมพันธุ์
- เยื่อบุข้ออักเสบเรื้อรัง

ผู้ที่มีข้อเสื่อม อาจมีอาการต่อไปนี้ คือ
อาการปวดข้อ เป็นอาการหลัก โดยจะมีอาการปวดเป็นๆหายๆ ยกเว้นช่วงที่ข้ออยู่ในระยะอักเสบ จะมีอาการปวดข้อตลอดเวลา อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นขณะนั่งยองๆ คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบเป็นเวลานาน เมื่อลุกขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อมาก
- อาจได้ยินเสียงลั่นในข้อ
- ข้อติดขยับข้อได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงเช้าหลังตื่นนอน แต่เมื่อขยับข้อนั้นๆสักพักก็สามารถขยับข้อได้เป็นปกติ
- ข้อบวมขึ้น เนื่องจากมีน้ำเลี้ยงข้อเพิ่มขึ้นในระยะที่ข้ออักเสบ
- ถ้าข้อเสื่อมรุนแรง อาจได้ยินเสียงกรอบแกรบในข้อเวลาที่มีการเคลื่อน ไหวข้อนั้นๆ
 - ข้อเคลื่อนไหวได้น้อยลง เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ
วิธีดูแลโรคข้อเสื่อมเบื้องต้นอย่างไร?
การดูแลรักษาเบื้องต้นของโรคข้อเสื่อมที่สำคัญ ได้แก่
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดข้อ เช่นการนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ
- งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ
- กินยาแก้ปวดเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
ควรไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้
- ข้อบวมมาก
- ข้อติด เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ
- อาการปวดข้อไม่บรรเทา หรือรุนแรงมากขึ้น
- ข้อผิดรูป เช่น เข่าโก่ง

แพทย์วินิจฉัยโรคข้อเสื่อมโดยอาศัยสิ่งต่อไปนี้ คือ
ข้อมูลพื้นฐานของผู้ป่วยได้แก่ อายุ เพศ รูปร่าง ประวัติอาการของผู้ ป่วยก็สามารถวินิจฉัยได้เป็นส่วนใหญ่
- การตรวจร่างกาย ได้ยินเสียงลั่นในข้อหรือพบเข่าโก่งร่วมด้วยก็ทำให้การวินิจฉัยง่ายขึ้น
- ภาพเอกซเรย์ โดยทั่วไปไม่มีความจำเป็นในการวินิจฉัยเนื่องจากไม่มีความสัมพันธ์กับอาการปวด ภาพเอกซเรย์มีประโยชน์ช่วยบอกว่าข้อถูกทำลายมากน้อยเพียงใด เข่าโก่งผิดรูปมากน้อยเพียงใด และเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรค
- การตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอกซเรย์สนามแม่เหล็ก (เอมอาร์ไอ/MRI) และอัลตราซาวด์ข้อ ไม่ช่วยในการวินิจฉัยโรค มีความจำเป็นเฉพาะ เมื่อแพทย์ไม่แน่ใจในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่นหรือไม่เท่านั้น

แพทย์มีวิธีรักษาโรคข้อเสื่อมอย่างไร? ค่ารักษาแพงหรือไม่?
การรักษาโรคข้อเสื่อม แบ่งเป็น 3 วิธี ขึ้นกับระดับอาการและความรุนแรงของโรค ได้แก่
การรักษาโดยไม่ใช้ยา ประกอบด้วย
1. การให้คำแนะนำผู้ป่วยเกี่ยวกับโรค ปัจจัยเสี่ยง และหลีก เลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น
2. การออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
3. ลดน้ำหนักตัว
4. การใช้เครื่องช่วยเดินในการเดิน เช่นไม้ค้ำยัน/ไม้เท้า
5. การประคบร้อนในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังมีอาการปวด และประคบเย็นหลังเกิดอาการ 48 ชั่วโมง เป็นวิธีการที่ทำได้ง่ายและราคาถูก ผู้ป่วยสามารถทำได้เอง
6. การรักษาด้วย คลื่นอัลตราซาวด์ การกระตุ้นไฟฟ้าผ่านผิว หนัง เลเซอร์ และ/หรือ ฝังเข็ม มีประสิทธิผลน้อยและค่าใช้จ่ายสูง
ป้องกันไม่ให้เกิดอาการจากโรคข้อเสื่อมได้อย่างไร?
ป้องกันเกิดอาการปวดข้อจากโรคข้อเสื่อมโดยหลีกเลี่ยง หรือลดปัจจัยเสี่ยง เช่น กิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวด เช่น การนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ งดเว้นกิจกรรม หรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ
โรคข้อเสื่อมส่วนใหญ่ เป็นโรคเกิดตามอายุ จึงเป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้ แต่อาจช่วยชะลอการเกิด และ/หรือ ลดความรุนแรงของอาการโดย
ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เพราะจะเพิ่มแรงกดและการรับน้ำหนักของข้อต่างๆ ข้อจึงเสื่อมได้เร็วขึ้น
ไม่ใช้งานข้อต่างๆอย่างหักโหม ต่อเนื่อง
ออกกำลัง เคลื่อนไหวข้อ และกล้ามเนื้อ (กล้ามเนื้อจะช่วยการทำงานของข้อ) ต่างๆสม่ำเสมอ และ นั่ง นอน เดิน ลุกขึ้น ยกของ ให้ถูกวิธี โดยขอคำปรึกษาวิธีการที่ถูกต้องจาก แพทย์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ พยาบาล และ/หรือ นักกายภาพบำบัด

ข้อเสื่อม พบบ่อยที่ ข้อเข่า ข้อมือ และข้อสะโพก พบมากในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป เพศหญิงพบมากกว่าเพศชาย สาเหตุข้อเสื่อมเกิดจากการที่กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายจากการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีและชีวกลศาสตร์ภายในข้อและร่างกายไม่สามารถซ่อมแซมกระดูกอ่อนผิวข้อได้ทัน ส่งผลให้ข้อที่เสื่อมไม่สามารถรับน้ำหนักที่เกิดจากการทำกิจวัตรประจำวันได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดข้อเสื่อมหรือทำให้โรคลุกลามมากขึ้นได้แก่ อายุ เพศหญิง กิจกรรมที่ทำให้ข้อรับน้ำหนักมาก โรคอ้วน เคยได้รับบาดเจ็บที่ข้อนั้นๆมาก่อน
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเป็นสำคัญ อาจมีเสียงลั่นในข้อ ข้อติด บวม เคลื่อน ไหวข้อลดลง
การรักษาเบื้องต้นที่สำคัญได้แก่ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดอาการปวดเช่น การนั่งยอง คุกเข่า ขัดสมาธิ พับเพียบ งดเว้นกิจกรรมหรือเล่นกีฬาที่ทำให้เกิดแรงกระทำต่อข้อมากๆ กินยาแก้ปวดเช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)
     ไปพบแพทย์ ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้ ข้อบวมมาก ข้อติด เนื่องจากกระดูกอ่อนผิวข้อหลุดออกมาเป็นชิ้นเข้าไปแทรกระหว่างข้อ อาการปวดไม่บรรเทา หรือรุนแรงมากขึ้น ข้อผิดรูปเช่นเข่าโก่ง
วิธีการรักษาขึ้นกับความรุนแรงของโรค ประกอบด้วยการรักษาที่ไม่ใช้ยา การรักษาด้วยยากิน หรือยาฉีด และการผ่าตัด

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ กิตติ จิระรัตนโพธิ์ชัย
ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โปรตีนจากสัตว์มีความแตกต่างจากโปรตีนจากพืชอย่างไร?

กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย