ลำไส้รั่ว

ลำไส้รั่ว อันตรายแค่ไหน?
     ภาวะลำไส้รั่ว (Leaky Gut Syndrome) คืออะไร… คือการที่อาหารที่เรารับประทานเข้าไปหลุดออกมานอกลำไส้รึเปล่า??

ในความเป็นจริงก็คล้ายๆจะใช่ แต่ก็ไม่ตรงซะทีเดียว เพราะการเกิดลำไส้รั่วนั้นไม่ใช่เป็นการที่อาหารหลุดออกมานอกลำไส้ แต่เป็นการที่มีสารซึ่งไม่ใช่สารอาหารที่ถูกดูดซึมผ่านลำไส้ตามปกติ เล็ดลอดผ่านผนังลำไส้เข้าสู่ระบบไหลเวียนเลือด โดยการเกิดที่ว่านี้จะเกิดขึ้นที่บริเวณ ‘tight junctions’ หรือเซลล์ดูดซึมสารอาหารของลำไส้เล็ก ซึ่งปกติแล้วเซลล์ส่วนนี้จะเรียงตัวชิดกันเป็นระเบียบ และมีการดูดซึมเฉพาะสารอาหารเข้าสู่ร่างกาย ส่วนสารพิษหรืออาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์จะถูกส่งผ่านและขับถ่ายออกจากร่างกายต่อไป แต่เมื่อเกิดภาวะลำไส้รั่วนั้นจะมีการบวมของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ ทำให้เกิดช่องว่างที่บริเวณ ‘tight junctions’ ขึ้น (ตามภาพขวา) ซึ่งตรงช่องว่างนี้เองที่ทำให้สารพิษและอาหารที่ยังย่อยไม่สมบูรณ์เล็ดลอดเข้าไปสู่ระบบไหลเวียนเลือด และเป็นตัวก่อให้เกิดปัญหาการอักเสบต่างๆ ภายในร่างกายตามมาได้

สำหรับสาเหตุของลำไส้รั่วนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่คาดว่า ความเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารประเภทนมและน้ำตาลมากๆ อาหารที่มีส่วนผสมของกลูเตน (ในคนที่มีความไวต่อสารนี้) การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะลำไส้อักเสบจากการได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาประเภท NSAIDS เป็นเวลานานๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอักเสบของเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหารและเกิดภาวะลำไส้รั่วได้

อาการที่บ่งบอกว่าคุณอาจมีภาวะลำไส้รั่ว ได้แก่ มีแก๊สในทางเดินอาหารมากผิดปกติ มีอาการท้องอืดอาหารไม่ย่อยเป็นประจำ เหนื่อยเพลียง่ายทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอ มือเท้าเย็นโดยไม่ได้มีความผิดปกติของโรคต่อมไร้ท่ออื่นๆ (เช่น ไทรอยด์) ปวดศีรษะหรือปวดตามข้อไม่ทราบสาเหตุ แพ้อาหารแฝง (การแพ้อาหารแฝง จะไม่ได้แสดงอาการแพ้หลังรับประทานอาหารทันที มักจะมีอาการแต่เพียงน้อยๆ จนไม่ทันสังเกต เช่น บางครั้งเราอาจรู้สึกท้องอืด แน่นท้อง อ่อนเพลีย มีผื่นคันเล็กน้อยและหายไปได้เอง) น้ำหนักขึ้นง่ายผิดปกติ มีผื่นหรือสิวเรื้อรังรักษาไม่หาย ในทางเวชศาสตร์ชะลอวัยเชื่อว่า โรคที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ อาจจะมีสาเหตุของภาวะลำไส้รั่วซึมไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะเมื่อทำการรักษาภาวะลำไส้รั่วซึมให้ดีขึ้น ก็พบว่าอาการของโรคทั้งหลายดังกล่าวก็ทุเลาลงไป ซึ่งหากคุณมีอาการต่างๆ เหล่านี้สามารถเข้ามาปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาได้ค่ะ

การรักษา สามารถทำได้โดยการใช้เอนไซม์ที่ช่วยให้การย่อยอาหารเป็นไปได้ดีขึ้น รับประทานวิตามินและกรดอะมิโนที่ช่วยในการซ่อมแซมเยื่อบุผิวลำไส้ รวมถึงให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกเพื่อช่วยปรับสมดุล การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย การปรับเปลี่ยนอาหาร ลดการใช้ยา และปรับสภาพจิตใจ เข้านอนให้เร็วขึ้น เพราะการนอนเป็นวิธีการพักผ่อนและฟื้นฟูร่างกายได้ดีที่สุด ที่สำคัญอีกอย่างคือพยายามลดความเครียด เพราะเมื่อเราเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายอย่างรวมทั้งกระทบต่อการทำงานของลำไส้ด้วย

อาหารที่ดีต่อลำไส้ ได้แก่ อาหารกลุ่มที่มีโพรไบโอติกสูง เช่น โยเกิร์ต และอาหารกลุ่มผักผลไม้ที่มีเส้นใยสูง “Leaky Gut Syndrome หรือภาวะลำไส้รั่ว อาจจะดูร้ายแรง และนำไปสู่โรคอื่น ๆ ได้ แต่เราสามารถป้องกันและรักษาได้ด้วยตัวเราเอง กินอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เพียงพอ งดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ อาการของภาวะนี้ดีก็จะดีขึ้นได้

ขอขอบคุณเจ้าของบทความ 
พญ. ศิเรมอร ไทรวิจิตร

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

โปรตีนจากสัตว์มีความแตกต่างจากโปรตีนจากพืชอย่างไร?

กรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิด

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย